หลักการและแนวคิด

แชร์หน้านี้

ความเป็นมาของแนวคิดหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

          แนวความคิดของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 – 2550) ประกอบกับเจตนารมณ์และเงื่อนไขตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ทำให้เกิดความจำเป็นในการออกแบบโครงสร้างองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการ โดยเฉพาะในส่วนของภารกิจงานเกี่ยวกับการให้บริการหรืองานสนับสนุน (non-core function) บางประการ ซึ่งยังไม่สมควรหรือไม่มีเหตุผลสนับสนุนรองรับในการยุบเลิกและให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน แต่การดำเนินภารกิจงานดังกล่าวต้องอาศัยนวัตกรรมทางการบริหารจัดการและความเป็นอิสระ คล่องตัว โดยเฉพาะการมุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคุ้มค่า คุณภาพและความพึงพอใจของผู้รับบริการ

          นอกจากนี้ จากการสำรวจวิธีการดำเนินงานที่มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ (International Best Practices Survey) พบว่า บรรดาประเทศชั้นนำต่าง ๆ ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานให้บริการในลักษณะพิเศษขึ้นเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว เพื่ออุดช่องว่างเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างองค์การในภาครัฐ อาทิเช่น ประเทศสหราชอาณาจักรได้จัดตั้งหน่วยงานเรียกว่า Executive Agency (EA) รวมทั้งสิ้นประมาณมากกว่า 200 แห่ง ประเทศแคนาดาได้จัดตั้งหน่วยงานเรียกว่า Special-  Operating Agency (SOA) รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

          ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ศึกษาเพื่อให้มีการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit) ขึ้นในกระทรวง ทบวง กรมในสังกัดฝ่ายบริหาร เพื่อรับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินงานให้บริการ (service provider) บางประเภทแก่ส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือส่วนราชการอื่น หรือประชาชนโดยทั่วไป โดยมีอิสระความคล่องตัวในการบริหารงานได้อย่างพอเพียงต่อการส่งมอบบริการอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ 

หลักการของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
  1. เป็นหน่วยงานให้บริการภายในของระบบราชการ โดยมีลักษณะกึ่งอิสระ แต่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ยังคงถือเป็นส่วนหนึ่งของกรม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม มีเป้าหมายให้บริการหน่วยงานเจ้าสังกัดเป็นหลัก และหากมีกำลังการผลิตส่วนเกินจะให้บริการหน่วยงานอื่นและประชาชนได้ (ซึ่งทำให้แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจที่มิได้เป็นนิติบุคคล เช่น โรงงานยาสูบ ฯ ที่ให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแก่ประชาชนเป็นหลัก)
  2. การดำเนินงานใช้รูปแบบวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ สามารถจะเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยงานเจ้าสังกัด หรือลูกค้าผู้รับบริการอื่น ๆ ได้
  3. ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร และไม่นำส่งรายได้เข้ารัฐโดยตรง หรือจำเป็นต้องเลี้ยงตัวเองได้เป็นสำคัญ แต่ในบางกรณีอาจมีการวางเงื่อนไขให้ต้องนำส่งรายได้เหนือรายจ่ายบางส่วนเข้ารัฐตามสมควร
  4. ความสัมพันธ์กับส่วนราชการเจ้าสังกัด

      (1)  จัดตั้งขึ้นจากการแปลงสภาพหน่วยงานบางหน่วยงานของส่วนราชการเจ้าสังกัดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550
ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของส่วนราชการเจ้าสังกัด และไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกจากส่วนราชการเจ้าสังกัด 
      (2)  ส่วนราชการเจ้าสังกัดจะตั้งงบประมาณอุดหนุนหน่วยบริการรูปแบบพิเศษในลักษณะค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการใช้บริการของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มแรก แต่จะตั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไม่ได้ 
      (3)  ส่วนราชการเจ้าสังกัดมีอำนาจบริหารจัดการ (ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้อำนวยการ และการให้นโยบาย) 
      (4)  การดำเนินงานใด ๆ ของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษต้องได้รับการมอบอำนาจจากหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานเจ้าสังกัด 
      (5)  บุคลากรมีสถานะเป็นพนักงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ 
      (6)  ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้เกิดอิสระความคล่องตัวทางการบริหารจัดการ 

คุณลักษณะของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

          การจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ แต่เดิมอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 11 (8) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยการวางระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2548 ต่อมาเพื่อให้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 จึงได้บัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไว้ในมาตรา 40/1 โดยให้ส่วนราชการภายในกรมที่มีลักษณะเป็นงานให้บริการหรือมีการให้บริการเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย และหากแยกงานบริหารออกเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษแล้ว จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดียิ่งขึ้น ส่วนราชการดังกล่าวโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะแยกการปฏิบัติราชการในเรื่องนั้น ไปจัดตั้งเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษซึ่งมิใช่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจแต่อยู่ในกำกับของส่วนราชการก็ได้

          เพื่อให้เห็นธรรมชาติของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษอย่างชัดเจน จึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างส่วนราชการ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

ตารางที่ 1      สรุปเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างส่วนราชการ: หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และองค์การมหาชน

ประเด็นส่วนราชการหน่วยบริการรูปแบบพิเศษองค์การมหาชน
1. ภารกิจภารกิจหลักของหน่วยงาน
ตามที่กฎหมายกำหนด
ภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการเฉพาะด้านแก่หน่วยงานเจ้าสังกัด ส่วนราชการอื่น และ/หรือประชาชน ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารายได้ (กำไร) และไม่นำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นการ โดยตรง หรือจำเป็นต้องเลี้ยงตัวเองได้เป็นสำคัญภารกิจที่รัฐต้องดำเนินการ ในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก
2. สถานะของหน่วยงาน- เป็นนิติบุคคล 
- เป็นหน่วยงานที่ยึดระเบียบแบบแผน การบริหารและดำเนินการตามระเบียบกลาง
- ไม่เป็นนิติบุคคล 
- เป็นหน่วยงานที่มีอิสระมีความคล่องตัวในการบริหารงานภายใต้กำกับของหน่วยงานแม่
- เป็นนิติบุคคล 
- เป็นหน่วยงานที่มีอิสระ มีความคล่องตัว
ในการบริหารงานภายใต้กำกับของรัฐมนตรี
เจ้าสังกัด
3. ขอบเขตอำนาจหน้าที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกำหนดในมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติจัดตั้ง/ประกาศแปลงสภาพกำหนดในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง
4. กรอบการดำเนินการมีแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการตามที่ได้รับจัดสรร
งบประมาณเป็นแนวทางการดำเนินงาน
มีเอกสารกรอบการดำเนินงานขององค์กรที่จะต้องเสนอให้หน่วยงานเจ้าสังกัดเห็นชอบก่อน 
(มีคณะกรรมการกำกับดูแล)
มีแผนการดำเนินงานขององค์กร โดยต้องมีแผนการลงทุนและมีแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่ได้รับความเห็นชอบจาก
คณะกรรมการ
 5. การบริหารงานภายในใช้ระบบการบริหารงานบริหารคนและบริหารเงินที่องค์กรกลางกำหนด- มีระบบบริหารงานบริหารคนและบริหารเงินที่กำหนดขึ้นเอง 
- มุ่งเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงาน 
- เรียกเก็บบริการจากหน่วยงานแม่เจ้าสังกัดหน่วยงานหรือลูกค้าผู้รับบริการอื่น ๆ ได้
มีระบบการบริหารงาน บริหารคนและบริหารเงินที่กำหนดขึ้นเอง
 - เน้นการบริหารงานเชิงประสิทธิภาพมุ่งผลสัมฤทธิ์การดำเนินงาน
  6. การติดตามประเมินผล และรายงาน- มีระบบการรายงานและการประเมินผลตามแบบกลาง 
- ต้องกำหนดตัวชี้วัด
ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการปฏิบัติภารกิจขององค์การ
- จัดทำรายงานประจำปีตามแบบแสดงรายงานประจำปีหน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่ ก.พ.ร. กำหนดเสนอต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด และให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดจัดทำความเห็นประกอบรายงานแล้วรายงานต่อ ก.พ.ร. ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับสำหรับส่วนราชการที่มีการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ 
- เมื่อหน่วยบริการรูปแบบพิเศษดำเนินการครบ 4 ปี ให้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจัดทำรายงานตามกรอบการประเมินหน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่ ก.พ.ร. กำหนดเสนอต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด และให้  ส่วนราชการเจ้าสังกัดทำความเห็นประกอบรายงาน แล้วรายงานต่อ ก.พ.ร.  ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากนับแต่สิ้นปีบัญชีในปีนั้น
- อยู่ภายใต้ระบบการประเมินตามหลักเกณฑ์
ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
- จัดทำรายงานปีละ 1 ครั้ง เสนอรัฐมนตรี
เจ้าสังกัด
  7. อื่น ๆ  ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

            
            ด้วยเหตุที่หน่วยบริการรูปแบบพิเศษยังคงมีความสัมพันธ์ผูกพันกับหน่วยงานแม่ ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษจึงต้องได้รับการมอบอำนาจจากหัวหน้าส่วนราชการของหน่วยงานแม่ อันก่อให้เกิดผลติดตามมาอย่างน้อยสองประการ กล่าวคือ 

            ประการแรก หน่วยบริการรูปแบบพิเศษต้องมีภาระรับผิดชอบต่อผลงาน (Accountability for Results) ต่อหน่วยงานเจ้าสังกัดของตน

            ประการที่สอง หน่วยงานแม่ผู้มอบอำนาจยังสามารถเข้าไปกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษอยู่ เพื่อให้มั่นใจจนกว่าการดำเนินงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอย่างแท้จริง รายละเอียดตามแผนภาพที่  1 

ภาพที่ 1   แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานแม่และหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ 


 

          จากคุณลักษณะของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่มีลักษณะกึ่งอิสระ (Quasi-Autonomy) แต่ยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าหน่วยราชการ โดยหน่วยบริการรูปแบบพิเศษมีความเป็นอิสระ คล่องตัว รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจึงเป็นทางเลือกใหม่ของการจัดโครงสร้างองค์การในภาคราชการที่จะช่วยทำให้ขนาดของส่วนราชการเดิมเล็กลงมีการถ่ายโอนและโยกย้ายข้าราชการและลูกจ้างบางส่วนออกไป ลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงานให้ดีขึ้น 

ภาพที่ 2 แผนภาพแสดงสถานะของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ



ในกรณีที่ไม่อาจมอบอำนาจตามวรรคสองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้ ให้ดำเนินการมอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การจำแนกประเภทของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษตามลักษณะภารกิจของหน่วยงาน
  1. หน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่มีลักษณะภารกิจในการให้บริการด้านพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม แก่ส่วนราชการเจ้าสังกัด ยกตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น
  2. หน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่มีลักษณะภารกิจในการให้บริการด้านบริการสาธารณะ สังคม และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นต้น
โครงสร้างและระบบการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

           การจัดโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษนั้นอาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการอำนวยการที่ได้รับการแต่งตั้งจากหน่วยงานแม่เจ้าสังกัด (หรือในกรณีที่เป็น
ศูนย์บริการร่วมอาจมีผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันเป็น คณะกรรมการบริหาร) หรืออาจให้อยู่ภายใต้การดูแลบังคับบัญชาของหัวหน้าส่วนราชการโดยตรงก็ได้ ทั้งนี้ หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจะต้องมีอิสระความคล่องตัวในการจัดโครงสร้างองค์การ อัตรากำลังและค่าตอบแทนของตนได้เองตามความเหมาะสม โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการหรือผู้บังคับบัญชาสุดแล้วแต่กรณี เนื่องจากมีระบบการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายและวางระบบรายงานเพื่อการควบคุมทางการเงินอย่างเคร่งครัดไว้แล้ว การกำหนดอัตราค่าจ้างของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษให้คำนึงถึงประสิทธิภาพและรายได้ของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างทั่วไปในลักษณะงานทำนองเดียวกัน

ภาพที่ 3   แผนภาพแสดงการจัดโครงสร้างการบริหารของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ 



 

หน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่กำหนดขึ้นมานี้ต้องมีระบบการบริหารงานที่สำคัญจำนวน 4 ระบบ ดังนี้       

ระบบที่หนึ่ง ระบบการควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป

          หน่วยงานต้องมีหน้าที่สรรหาผู้อำนวยการ โดยดำเนินการในรูปคณะกรรมการสรรหา มีอธิบดีเป็นประธาน สรรหาจากข้าราชการและบุคคลภายนอก โดยอธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง
ตลอดจนลงนามในสัญญาว่าจ้าง 
          ผู้อำนวยการมีอำนาจในการบริหารงานของหน่วยงานตามนโยบายและแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือคณะกรรมการก่อน นอกจากนั้น ยังมีอำนาจออกระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทางการบริหารที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดตั้ง รวบรวมปัญหาในการดำเนินการพร้อมด้วยข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตลอดจนดำเนินงานอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงาน 
          จากระบบการสรรหาดังกล่าว ผู้อำนวยการของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ จึงเป็นผู้มีอำนาจกำกับ ดูแลและควบคุมการบริหารจัดการภายในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่มีอิสระพอสมควร โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในเชิงนโยบายและเป้าหมายการบริหารงานต่อหัวหน้าส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือคณะกรรมการ

ระบบที่สอง  ระบบบริหารงานบุคคล

          หน่วยบริการรูปแบบพิเศษสามารถวางระเบียบบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานของหน่วยงานได้ โดยขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหัวหน้าส่วนราชการเจ้าสังกัด และต้องประกาศให้พนักงานทราบอย่างเป็นทางการ 
          ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษต้องไม่ใช่ข้าราชการหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ในราชการประจำของส่วนราชการนั้น เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของ
หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หัวหน้าส่วนราชการเจ้าสังกัดโดยคำร้องขอของผู้อำนวยการจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวไปปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษตามระยะเวลาที่กำหนดได้ โดยให้
ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2550
          ในกรณีที่ให้ข้าราชการมาปฏิบัติงาน รัฐมนตรีเจ้าสังกัดสามารถอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2550 อาจสั่งให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษได้เป็นการชั่วคราว รวมเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 4 ปี โดยให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเหมือนอยู่ปฏิบัติราชการเต็มเวลา 
          ข้าราชการที่มาปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบการบริหารงานบุคคลของหน่วยงาน และทำสัญญาการจ้างเช่นเดียวกับพนักงานตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ 
          ในกรณีที่ข้าราชการที่ถูกสั่งให้มาปฏิบัติงานในหน่วยบริการรูปแบบพิเศษหมดวาระและประสงค์จะขอกลับไปรับราชการ ให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับไม่ต่ำกว่าเดิม 
          สำหรับลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวที่มีอยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานเดิมนั้น จะต้องมีการปรับเข้าเป็นพนักงานหรือเข้าสู่ระบบลูกจ้างสัญญาจ้างต่อไป โดยไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์เดิมที่เคยได้รับ

ระบบที่สาม ระบบการเงิน พัสดุ และทรัพย์สิน

          หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ส่วนราชการเจ้าสังกัดจะตั้งงบประมาณอุดหนุนหน่วยบริการรูปแบบพิเศษในลักษณะค่าตอบตอบแทนหรือค่าบริการในการใช้บริการของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มแรก แต่จะตั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไม่ได้

          หน่วยบริการรูปแบบพิเศษมีระบบบัญชีพัสดุ และทรัพย์สินแยกต่างหากจากหน่วยงานแม่ และใช้ระบบบัญชีเกณฑ์พึงรับพึงจ่าย (Accrual Accounting) ตามหลักสากล บริหารงานภายใต้หลักการของการคิดคำนวณต้นทุนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการตีราคามูลค่าสินทรัพย์ของทางราชการที่ได้รับ การนำมาใช้ประโยชน์ การคำนวณค่าเสื่อมราคา และต้องทำรายงานทางการเงินโดยจัดทำงบดุล งบการเงินและบัญชีทุกสิ้นรอบระยะเวลาดำเนินการให้ผู้สอบบัญชีภายนอกตรวจสอบ ตลอดจนต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุขององค์กร ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้หน่วยงานแม่ทราบอย่างน้อยปีละครั้ง
          ในการทำธุรกรรมใด ๆ ของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 
          สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และให้ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษทุกรอบปี

ระบบที่สี่ การตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน

          ให้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจัดทำรายงานประจำปีตามแบบแสดงรายงานประจำปีหน่วยบริการรูปแบบพิเศษที่ ก.พ.ร. กำหนดเสนอต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด และให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดจัดทำความเห็นประกอบรายงาน แล้วรายงานต่อ ก.พ.ร. ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดบังคับสำหรับส่วนราชการที่มีการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ 
          เมื่อหน่วยบริการรูปแบบพิเศษดำเนินการครบ 4 ปี ให้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษจัดทำรายงานตามกรอบการประเมินหน่วยบริการรูปแบบที่ ก.พ.ร. กำหนดเสนอต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด และให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดทำความเห็นประกอบรายงาน แล้วรายงานต่อ ก.พ.ร. ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากนับแต่สิ้นปีบัญชีในปีนั้น



การปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

          ภายใต้ลักษณะ โครงสร้างและระบบการบริหารงานหน่วยบริการรูปแบบพิเศษจะพบว่าหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ สามารถออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามความเหมาะสมกับภารกิจของการดำเนินงานของแต่ละแห่ง ดังนั้น ในการปรับเปลี่ยนหน่วยงานใดในส่วนราชการไปสู่หน่วยบริการรูปแบบพิเศษควรจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้ 

          ประการแรก  ส่วนราชการนั้นมีลักษณะหรือภารกิจของการดำเนินงานเป็นเรื่องของการให้บริการต่อภารกิจของหน่วยงานแม่ อาทิ งานโรงพิมพ์ของส่วนราชการ งานผลิตวัสดุอุปกรณ์ งานผลิตครุภัณฑ์ให้กับหน่วยงาน เป็นต้น 

          ประการที่สอง  สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนภายใต้กรอบนโยบายที่กำหนด หมายความว่า ส่วนราชการที่ปฏิบัติภารกิจสามารถดำเนินงานได้โดยไม่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้จากภายนอกมากระทบ ซึ่งหากมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการอื่น อาจทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ ด้วยตนเอง และกระทบต่อการตอบสนองภารกิจของหน่วยงานแม่ 

          ประการที่สาม  มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและสร้างภาระรับผิดชอบต่อหน่วยงานแม่เจ้าสังกัดได้ โดยสามารถสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานแม่ให้บรรลุผลผลิตที่หน่วยงานแม่กำหนดได้ 

          ประการที่สี่  สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ชัดเจนและมีความเป็นรูปธรรม นั้น หมายความว่าผลผลิตของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หน่วยงานแม่ต้องสามารถกำหนดเป้าหมาย และสามารถที่จะวัดผลความสำเร็จ (Output) ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนเหมือนองค์กรทางธุรกิจ ไม่ใช่วัดที่กระบวนการทำงานหรือความพึงพอใจของผู้รับบริการเท่านั้น

          ประการที่ห้า  มีขนาดที่เหมาะสมเพียงพอต่อการแยกส่วนออกจากหน่วยงานแม่เจ้าสังกัด หมายความว่า ส่วนงานนั้นมีภารกิจที่เหมาะสม มีขนาดโครงสร้างอัตรากำลังเมื่อแยกตัวแล้ว
สามารถที่จะยืนอยู่บนขาของตัวเองหรือสามารถเลี้ยงตัวเองได้ 

          ประการที่หก  ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่ได้พัฒนาไปสู่หน่วยบริการรูปแบบพิเศษสามารถบริหารงานอย่างมืออาชีพ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงาน

แนวทางการพิจารณาเพื่อจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

  1. หน่วยงานที่จะแปลงสภาพเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หมายถึง หน่วยงานภายในระดับต่ำกว่ากรมของส่วนราชการ และหมายความรวมถึงภารกิจของหน่วยงานหรือส่วนราชการ

      (ข้อ 4 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550)

     2. มีลักษณะงานเป็นงานให้บริการที่มีขีดความสามารถที่นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ส่วนราชการเจ้าสังกัดแล้ว ยังสามารถใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ หรือทรัพยากรอื่นใดของหน่วยงานนั้น
        ให้บริการแก่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือประชาชนได้ด้วย

    3. การแปลงสภาพเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษจะเป็นประโยชน์แก่การให้บริการสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง จะก่อให้เกิดความคล่องตัว คุ้มค่า และสามารถลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงได้

    4. มีการปรับโครงสร้างของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการแปลงสภาพหน่วยงานเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

      (ข้อ 5 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550)

    5. การดำเนินงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริการภาครัฐเป็นสำคัญ และเมื่อมีกำลังการผลิตหรือขีดความสามารถเหลืออยู่ จึง      จะให้บริการแก่ประชาชนได้ และผู้มีอำนาจควบคุมมีหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อมิให้เป็นการแข่งขันกับภาคเอกชน

    6. ส่วนราชการเจ้าสังกัดต้องกำหนดเป้าหมายปริมาณงานบริการที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดประสงค์จะได้รับบริการจากหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และแจ้งให้หน่วยบริการรูปแบบพิเศษทราบ    ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปีงบประมาณ

       (ข้อ 7 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550)

      7.    ส่วนราชการเจ้าสังกัดจะตั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไม่ได้ เว้นแต่เป็นงบประมาณสำหรับค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการใช้บริการของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือค่าใช้จ่ายในการลงทุนระยะเริ่มแรก

      (ข้อ 8 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีระเบียบว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550)

ขั้นตอนการขอจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

มี 6 ขั้นตอน รายละเอียดตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ นร 1200/ ว10 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550

  1. หน่วยงานเจ้าสังกัดวิเคราะห์ความเหมาะสมของหน่วยงานที่ประสงค์จะจัดตั้งเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงเพื่อพิจารณา
  2. คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงพิจารณาข้อเสนอ หากเห็นชอบให้ปลัดกระทรวงส่งคำขอจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษมายังสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมรายละเอียดแบบรายการคำชี้แจงประกอบคำขอจัดตั้ง
  3. สำนักงาน ก.พ.ร. วิเคราะห์ความเหมาะสมในการในด้านภารกิจ ศักยภาพของหน่วยงานด้านต่างๆ ตลอดจนระบบการบริหารจัดการ และระบบการกำกับดูแลจากหน่วยงานเจ้าสังกัด เพื่อเสนอ ก.พ.ร. ให้ความเห็นชอบ
  4. ก.พ.ร. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติสำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงทราบ
  5. ประกาศแปลงสภาพเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ และแก้ไขกฎกระทรวงแบ่ง  ส่วนราชการของหน่วยงานเจ้าสังกัด (ถ้ามี) ในราชกิจจานุเบกษา